ReadyPlanet.com
dot
dot
ประมวลรูปภาพ
dot
bulletงานปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2558
bulletกิจกรรมว่ายน้ำ
bulletกิจกรรมวันแม่
bulletกิจกรรมกีฬาสี
bulletเที่ยวซาฟารี
dot
แบบฝึกหัด เสริมทักษะ
dot
bulletนับเลข 1-20
bulletศัพท์ภาษาอังกฤษ ผักและผลไม้
bulletบวกเลข 1-9
bulletคำที่มักเขียนผิด
dot
นานาสาระ
dot
bulletคุณแม่ควรเตรียม....วันสอบสาธิตป.1
bulletเลี้ยงลูกไม่ให้เอาแต่ใจตนเอง”
bullet5 อาการป่วยที่ไม่ควรวางใจ
bulletห้องเรียนพ่อแม่ ตอน " การศึกษาของเด็กวัยอนุบาล"
bulletลูกไม่พูด ลูกพูดช้า ทำอย่างไรดี
bulletนิทานอาหารสมอง
bulletนิสัย 10 อย่าง ที่ทำให้สมองพัง
bulletสร้างความรู้สึกภูมิใจให้เด็กได้อย่างไร
bulletถอดรหัสความเก่งในตัวลูก
bulletลูกเรียนไม่เก่ง กลัวว่าโตขึ้นเขาจะเอาตัวไม่รอด
bulletอย่านะลูก
bulletเตรียมพร้อมหนูๆ เข้าโรงเรียนสาธิตกันเถอะ
bulletFunctional Food ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพ
bulletกิจกรรมไหว้ครู2556
bulletกิจกรรมไหว้ครู2556
dot
คุยเรื่อง สาธิตกันดีกว่า
dot
bullet เตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้ลูกพิชิตการสอบสาธิต
bullet ประโยชน์ที่แท้จริงของการพาลูกสอบเข้าเครือสาธิต
bulletเตรียมพร้อมหนูๆ เข้าโรงเรียนสาธิตกันเถอะ




ลูกไม่พูด ลูกพูดช้า ทำอย่างไรดี

ลูกไม่พูด ลูกพูดช้า ทำอย่างไรดี

 

ปัญหาลูกไม่ยอมพูด หรือลูกพูดช้านี้ ก็เป็นปัญหาที่คุณพ่อ คุณแม่กลุ้มใจอีกประการหนึ่งด้วยความกังวลว่า ลูกจะผิดปกติไม่เหมือนชาวบ้าน ความจริงแล้วหากเป็นเรื่องของพัฒนาการแล้ว การแก้ไขทำได้ไม่ยากเย็นเท่าไหร่ เพียงแต่คุณพ่อ คุณแม่ สามารถจะให้เวลาลูกได้มากเท่าไหร่แค่นั้นเอง

สาเหตุที่ลูกพูดช้า

หากคุณพ่อ คุณแม่พบว่า สาเหตุที่ลุกพูดช้าเกิดจากการเอาใจใส่ที่ไม่เพียงพอของคุณพ่อ คุณแม่ ก็แก้ง่ายๆ ด้วยการให้เวลา เอาใจใส่ลูกให้มากขึ้น ถึงแม้จะเหนื่อย แต่ก็จำเป็นต้องอยู่กับลูก หัดให้ลูกพูด พูดช้าๆ เน้นย้ำ ให้ลูกโต้ตอบ ด้วยคำง่ายๆ และค่อยๆเพิ่มความซับซ้อนของประโยค แล้วลูกก็จะค่อยๆพูดได้เองในที่สุดค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อ คุณแม่คิดว่า ดูแลเอาใจใส่ลูกดีอยู่แล้ว แต่ลูกก็ยังพูดช้า พูดน้อย หรือพูดผิดๆ กลับประโยคไปมา เหมือนจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็ขอแนะนำให้พาลูกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบพัฒนาการโดยละเอียดดีกว่านะคะ และคุณหมอจะให้คำแนะนำแก้ปัญหา ลูกไม่ยอมพูด หรือลูกพูดช้านี้ อย่างละเอียดอีกทีค่ะ


ปัญหาลูกพูดช้า

ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่หลายคน กังวลว่า ลูกเป็นเด็กพูดช้าหรือไม่ และมักห่วงว่า ลูกจะกลายเป็นเด็กออทิสติค หลายคนพยายาม ที่จะ บังคับให้ลูกพูด จนบางครั้ง ทำให้เด็กกลัว ต่อต้าน และไม่ค่อยยอมพูด ก็เลยเกิดความเครียดขึ้นมา โดย ทั่วไปแล้วเด็กที่เจริญเติบโต และมีพัฒนาการเป็นปกติ ก็จะมีพัฒนาการ ด้านการพูดเป็นปกติ ไปตามวัย อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะการพูดเป็นส่วนหนึ่ง ของการใช้ภาษา และการพูดสื่อความหมาย บ่งบอกถึงระดับสติปัญญาในเด็ก เด็กที่สามารถสื่อความหมาย กับผู้อื่นได้ บอกความต้องการหรือความรู้สึก ให้ผู้อื่นทราบได้ ก็จะเป็นเด็ก ที่มีอารมณ์แจ่มใส และมีพัฒนาการ ทางด้านสังคมก้าวหน้าได้ดี

 

องค์ประกอบที่มีผลต่อการที่ลูกพูดช้า

1. การได้ยินหรือการรับรู้ที่ปกติ คือ มีหูชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นในที่ปกติ รวมถึงการมองเห็นและการรับรู้ทางประสาทสัมผัสอื่นๆด้วย เช่น จะสอนเด็กให้รู้จักคำว่า “แมว” ถ้าเด็กมองเห็นแมวว่ามีรูปร่างอย่างไร ได้ยินเสียงแมวร้อง ก็จะเรียนรู้คำว่าแมวได้ดีขึ้น

2.มีสมองและระบบประสาทที่ปกติ เพื่อใช้ในการรวบรวมข้อมูล แปลข้อมูล ทำความเข้าใจ คิด เตรียมเลือกคำพูด

3. มีอวัยวะในการพูดหรือการออกเสียงที่ปกติ เช่น กล่องเสียง สายเสียง คอ เพดาน ปาก ลิ้น ฟัน ริมฝีปาก กล้ามเนื้อบริเวณคอและใบหน้า กล้ามเนื้อกระบังลม

4.มีสิ่งแวดล้อมที่ดีที่เอื้ออำนวยต่อการ พูดของลูก ถ้าคุณพ่อคุณแม่ขยันพูดคุยกับลูกบ่อยๆ มีการโต้ตอบต่อการเปล่งเสียงของลูกก็จะช่วยกระตุ้นให้ลูกเล่นเสียงมากขึ้น พูดได้ดีขึ้น

ถ้ามีองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อนี้ดี การพัฒนาทางการพูดและการใช้ภาษาก็จะเป็นไปได้ด้วยดี

แต่ มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่เข้าใจว่าการที่ให้ลูกดูทีวีหรือวีดิทัศน์ทั้งวันจะ เป็นการช่วยให้ลูกได้สามารถจับคำศัพท์และสามารถฝึกพูดได้เร็วขึ้น จริงๆแล้วในช่วงอายุ 1-2 ปี ที่เด็กกำลังหัดพูดอยู่นั้น ควรที่จะให้เด็กดูทีวีน้อยที่สุด และให้เวลาส่วนใหญ่ของเด็ก มีปฎิสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้มากที่สุด เพราะว่าการเรียนรู้ภาษานั้นเป็นการเรียนรู้การสื่อสารแบบสองทาง ( Two- way communication) ซึ่งจะทำให้เด็กได้เข้าใจคอนเซปต์ และความหมายของคำต่างๆ ได้ดีกว่าการดูทีวีซึ่งเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว (One- way communication)

การพัฒนาทางการพูดในเด็ก
ในเด็กปกติจะเริ่มมีการพัฒนาด้านการพูดในอายุที่ใกล้เคียงกัน และมีการพัฒนาเป็นขั้นตอนเหมือนกันทุกชาติทุกภาษา จะต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น เช่น อาจพูดเร็วช้าต่างกัน ความชัดเจนถูกต้องต่างกัน หรือจำนวนคำที่พูดได้ต่างกัน

เด็กจะมีพัฒนาการทางด้านการรับรู้ภาษา(Receptive) และการพูดหรือการแสดงออก(Expressive) ไปพร้อมๆกัน ในแต่ละช่วงอายุ

แรก เกิด เริ่มจากเด็กแรกเกิดใช้เสียงร้องในการสื่อความหมายบอกความต้องการของร่างกาย และสภาพอารมณ์ เช่น หิว เจ็บ ไม่สบาย และเด็กที่หูได้ยินเป็นปกติ จะมีการสะดุ้ง ผวาหรือหยุดฟังเสียงเวลามีเสียงดัง

อายุเดือน ครึ่งถึง 4 เดือน เด็กจะจ้องหน้าสนใจเวลามีคนมาพูดคุยด้วย เริ่มเล่นเสียงในคอ อืออา อ้อแอ้ หันหาเสียง รู้เสียงที่คุ้นเคย หัวเราะเสียงดัง

อายุ 5-6 เดือน จะสนุกกับการเลียนเสียง จะเลียนเสียงตนเองและเลียนเสียงคนอื่น โต้ตอบกับเสียงที่ได้ยิน ทำเสียงซ้ำๆ

อายุ 9-12 เดือน รู้จักเล่นเกมส์ง่ายๆ เช่น โยกเยก จับปูดำ เริ่มหัดเรียกพ่อแม่ ใช้ท่าทางสื่อความหมาย ชี้บอกความต้องการ พยักหน้าแสดงความเข้าใจ ทำตามคำสั่งง่ายๆได้(one step command) เช่น บอกให้หยิบลูกบอล , บ๋ายบาย

อายุ 1 ปี-1 ปี 6 เดือน ชี้ส่วนของร่างกายได้ เช่น ชี้ตา หู จมูก ทำตามคำสั่ง และคำขอร้องได้มากขึ้น ทำท่าทางพร้อมกับพูดไปด้วย พูดคำเดี่ยวๆที่มีความหมายได้มากขึ้น

อายุ 1 ปี6เดือน-2 ปี เข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนมากขึ้น รู้คำศัพท์มากขึ้น พูดคำที่มีความหมายต่างกันสองคำต่อกันได้ เช่น แม่อุ้ม กินนม ไปเที่ยว พูดได้ยาวขึ้น แต่ยังไม่เป็นประโยคที่สมบูรณ์ สนใจเรื่องราวที่มีภาพประกอบ

อายุ 2-3 ปี พูดเป็นประโยคโต้ตอบได้ บอกชื่อ นามสกุล รู้จักเพศของตนเอง ฟังเข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนขึ้น คนที่ไม่คุ้นเคยกับเด็กจะฟังเข้าใจภาษาที่เด็กพูดเกินครึ่ง บอกสีได้ 1-3 สี รู้ขนาดเล็กใหญ่ ชอบเล่าเหตุการณ์ที่พบเห็น

อายุ 4-6 ปี พูดโต้ตอบในกลุ่มเพื่อน เล่านิทานได้ พูดชัดเจน อาจมีบางพยัญชนะที่พูดไม่ชัด เช่น ,
บอกสีได้มากกว่า 4 สี นับ 1-30 ได้

อายุ 6-8 ปี รู้เวลา รู้ซ้าย-ขวา เริ่มอ่านเขียน

ควรสงสัยว่า เด็กพูดช้า เมื่อใด

การที่จะบอกว่าลูกพูดช้าหรือจะมีปัญหาทางด้านการพูดหรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะเสียเวลารอจนลูกเกินอายุ 2 ปี แล้วจึงนำลูกไปตรวจ เพราะถ้าสังเกตให้ดี ลูกอาจมีพฤติกรรมที่แสดงว่าอาจมีปัญหาในการพูดตั้งแต่ขวบปีแรกแล้ว

ข้อบ่งชี้ง่ายๆ ว่าเด็กอาจมีปัญหาในการพูดคือ
อายุ 6 เดือน ไม่ส่งเสียงอืออา ไม่หันหาเสียง ไม่ตกใจเวลาได้ยินเสียงดังๆ

อายุ 10 เดือน เรียกชื่อไม่หันหา

อายุ 15 เดือน ไม่เข้าใจคำสั่งห้าม ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ เช่น มานี่ นั่งลง บ๋ายบาย

อายุ 18 เดือน พูดคำเดี่ยวๆ ได้น้อยกว่า 5-6 คำ

อายุ 2 ปี พูดคำเดี่ยวๆ ที่มีความหมาย 2 คำต่อกันไม่ได้ เช่น ไปเที่ยว ไม่เอา ขอหนมหรือชี้ส่วนของร่างกายง่ายๆไม่ได้

อายุ 3 ปี พูดเป็นประโยคง่ายๆ ไม่ได้ พูดแล้วคนไม่คุ้นเคยฟังไม่เข้าใจ

อายุ เกิน 4 ปี ยังพูดติดอ่าง

อายุ เกิน 7 ปี ยังพูดไม่ชัด

การดูแลเด็กที่มีปัญหาพูดช้า

การดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดและใช้ภาษาจำเป็นที่จะต้อง รีบกระทำ เพราะหากทิ้งไว้นาน นอกจากจะแก้ไขยากแล้ว เด็กมักจะมีปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจตามมา เนื่องจากไม่สามารถจะติดต่อสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ มักจะหงุดหงิด ก้าวร้าว ฉุนเฉียว เกเร ไม่มีเพื่อน และมีปัญหาในการเข้าสังคมและการเรียนต่อไป


ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรให้ความสนใจเอาใจใส่ พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ ตั้งแต่เด็กยังเล็กให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็ก เมื่อเด็กเริ่มเปล่งเสียง เล่นเสียง ให้เปล่งเสียง เลียนเสียงโต้ตอบกับเด็ก เลือกใช้คำสั้นๆ ง่ายๆ พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ หากสงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดหรือการได้ยิน ให้รีบนำเด็กไปปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ

หากแพทย์ซักประวัติและตรวจแล้วคิดว่าการได้ยินปกติ และสาเหตุของการพูดช้าเป็นจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพูดของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมโดย


- พยายามกระตุ้นและจูงใจให้เด็กพูด แต่อย่าเครียด คาดคั้นหรือลงโทษ เพราะจะยิ่งทำให้เด็กไม่พูดมากขึ้น

- ขณะพูดกับเด็ก ให้หันหน้าเข้าหาเด็กเพื่อให้เด็กมองหน้า สบตา มองปากและทำตาม

- เลือกคำสั้นๆ ง่ายๆ ก่อน พูดช้าๆ และชัดๆ บ่อยๆ อาจเริ่มจากสิ่งที่เด็กกำลังสนใจอยู่ เช่น หนังสือภาพสวยๆ ในระยะแรกให้อ่านให้เด็กฟัง ให้เด็กชี้ภาพให้ตรงกับคำ เช่น หมาอยู่ไหน แล้วให้เด็กชี้ตอบ ในระยะหลังให้ผู้อ่านชี้ที่ภาพแล้วถามเด็กว่านี่ตัวอะไร ร้องเสียงอย่างไร พยายามกระตุ้นให้เด็กตอบ

- ถ้าเด็กพยายามจะพูด แม้ในระยะแรกจะไม่ชัด ไม่ควรตำหนิเด็ก ให้พูดคำที่ถูกต้องให้เด็กฟัง

- เมื่อเด็กเริ่มพูดคำสั้นๆ ให้เสริมคำให้ยาวขึ้น เช่น เด็กพูดว่า “หมา” ให้พ่อแม่เสริมต่อว่า “หมาวิ่ง” “หมาเห่า” เป็นต้น หากพยายามกระตุ้นเองอยู่ 2-3 เดือนแล้วไม่มีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น ควรพบนักอรรถบำบัด (นักฝึกพูด)อย่างสม่ำเสมอต่อไปเพื่อ ช่วยในการฝึกพูดให้กับเด็ก

ถ้าหากพบว่าเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หลังจากส่งตรวจการได้ยินอย่างละเอียดแล้ว กุมารแพทย์จะส่งให้พบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน โสต นาสิก ลาริงค์ เพื่อช่วยในการเลือกเครื่องช่วยในการฟัง (Hearing Aid) แล้วส่งให้นักอรรถบำบัด เพื่อฝึกการฟัง และฝึกพูดต่อไป

ถ้าหากสงสัยว่าอาจมีปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ เช่น เป็นเด็ก Autistic หรือโรคจิต ควรให้แพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางดูแลรักษาต่อไป

สรุป
การพูดเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ภาษาติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น หากเด็กพูดช้าหรือมีปัญหาในการพูดและไม่ได้รับการดูแลแก้ไขที่ถูกต้องเสีย แต่เนิ่นๆ จะทำให้เกิดปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจตามมา จึงควรที่จะแนะนำให้ผู้ดูแลเด็กส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการทางการพูดและการ ใช้ภาษาเสียตั้งแต่เด็กยังเล็ก และหากสงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาทางการพูดควรส่งเด็กมาให้ได้รับการตรวจและ แก้ไขโดยเร็วที่สุด และควรให้มีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา:
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

 







Copyright © 2010 All Rights Reserved.
โรเงรียนอนุบาลเศรษฐบุตร โทร 0-2579-2061, 0-2561-2444, 0-2941-1147 Email Setthabutk@hotmail.com Line ID: Sethaputra